top of page

รู้จักมะเร็ง

  • Jatuphon Nakhonsri, Geneticist
  • Dec 28, 2016
  • 1 min read

โดยปกติแล้ว เซลล์แต่ละเซลล์ของร่างกายจะถูกกำหนดอายุขัยไว้แน่นอน เช่นเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จะมีอายุขัยเพียง 2 วัน เซลล์เยื่อบุลำไส้เล็ก มีอายุไม่เกิน 7 วัน เซลล์ลำไส้ใหญ่ มีอายุ 3-4 วัน เป็นต้น เมื่อเซลล์หมดอายุขัย เซลล์ก็จะตายลง แล้วจึงจะมีเซลล์ใหม่ถูกแบ่งตัวมาแทนที่เซลล์เดิม โดยกลไกการตายและการแบ่งตัวนี้ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้การทำงานของอวัยวะนั้นเป็นไปอย่างปกติ

มะเร็ง คือกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากเซลล์กลายพันธุ์อย่างมีระบบ แบบแผน นอกจากจะทำให้เซลล์ไม่ตายตามอายุขัยที่กำหนดแล้ว ยังกลับทำให้เซลล์แบ่งตัวโดยควบคุมไม่ได้ สามารถเล็ดลอดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถสั่งให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดมาเลี้ยง จนกระทั่งรุกรานไปยังต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆได้

วิดีโอจำลองการเกิดและพัฒนาการของมะเร็ง

มะเร็ง มีสาเหตุมาจากทั้ง DNA กลายพันธุ์ที่ได้รับจากพ่อและแม่ หรือเกิดจากปัจจัยเสี่ยงของมะเร็ง เช่นการได้รับสารก่อมะเร็ง รังสีที่มีพลังงานสูง หรือการติดเชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี และ บี (HBV และ HCV) ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งตับ หรือไวรัสฮิวแมนปาปิลโลมา (HPV) ที่อาจทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและทวารหนัก)

(ภาพบน) พัฒนาการของมะเร็งตับที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดโรคตับ และนำไปสู่มะเร็งตับในที่สุด

(ภาพซ้าย) ปากมดลูกที่ติดเชื้อไวรัสฮิวแมนปาปิโลมา และพัฒนาต่อเป็นมะเร็งปากมดลูก

มะเร็ง เกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะ โดยเฉพาะอวัยวะที่สัมผัสกับสารพิษ เช่นปอด (มลภาวะ-บุหรี่) ตับ (สารเคมี-ยาฆ่าแมลง) และทางเดินอาหาร (สารพิษอื่นๆที่ร่างกายดูดซึมได้ไม่หมด)

มะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับสอง รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยทั่วโลก (ในปี พ.ศ. 2555) มีผู้ป่วยตายด้วยมะเร็งถึง 8.2 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทยมีคนตายจากมะเร็งในปีเดียวกันนี้ถึง 46,346 คน นั่นหมายถึง ทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยตายด้วยโรคมะเร็งอย่างน้อย 5 คน

ทุกวันนี้ การแพทย์มีความทันสมัยมากขึ้น อัตราการตายด้วยมะเร็งก็เริ่มจะมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี อัตราการรอดชีวิต และไม่กลับมาเป็นซ้ำ ก็ยังคงขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งที่พบมากกว่า

โดยส่วนใหญ่แล้ว คนทั่วไป (57%) มักจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ก็เมื่อถึงระยะที่ 4 หรือระยะลุกลามแล้ว ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 นั้น มีอัตรารอดชีวิตและไม่กลับมาเป็นซ้ำเหลือเพียง 4%

ดังนั้นแล้ว การจะใช้ชีวิตให้ปลอดมะเร็ง นอกจากจะต้องลดความเสี่ยงจากสารก่อมะเร็ง มลภาวะ และรังสีแล้ว การตรวจพบมะเร็ง ยิ่งในระยะแรกเริ่มมากเท่าใด ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสหาย และรักษาคุณภาพชีวิตได้ดีเท่านั้น

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน การตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ จะช่วยให้สามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆ และช่วยให้ผู้ได้รับการตรวจ สามารถจัดการแก้ไขได้ก่อนที่มะเร็งจะพัฒนาเป็นขั้นที่ 1 เสียด้วยซ้ำ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป


 
 
 

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page